อนุสัญญาฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว พ.ศ.2491 และอนุสัญญาฉบับที่ 98 ว่าด้วยสิทธิในการรวมตัวและการร่วมเจรจาต่อรอง พ.ศ.2492 คือ 2 ใน 8 อนุสัญญาหลักของ ILO ที่ทั่วโลกถือกันว่าเป็นอนุสัญญาที่สำคัญที่สุด ที่รับรองสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้ใช้แรงงาน และประเทศส่วนใหญ่ในโลกได้ให้ความยอมรับโดยให้สัตยาบันและปฏิบัติอย่างเคร่งครัด ขณะที่ประเทศไทยซึ่งมักอ้างเสมอว่าเป็น 1 ใน 45 ประเทศผู้ก่อตั้งองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) แต่กลับบ่ายเบี่ยงไม่ยอมให้สัตยาบันอนุสัญญาดังกล่าว

        ในเวทีการประชุมสุดยอดด้านการพัฒนาสังคม (World Social Summit) ที่กรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก เมื่อปี พ.ศ. 2538 ประเทศต่างๆได้มีมติร่วมกันเรื่องการส่งเสริมการปฏิบัติด้านแรงงานให้เป็นมาตรฐานสากล มติดังกล่าวถูกตอกย้ำอีกครั้งในที่ประชุมระดับรัฐมนตรีองค์การค้าโลก (WTO) ที่ประเทศสิงคโปร์ เมื่อปี พ.ศ.2539 ที่ประชุมมีมติให้ ILO เป็นองค์กรผู้ทรงอำนาจเพียงองค์กรเดียวในการผลักดันการปฏิบัติตามมาตรฐานแรงงาน และจักต้องดำเนินการโดยเร่งด่วนในการรณรงค์ผลักดันให้ประเทศสมาชิกมีการปฏิบัติตามและให้สัตยาบันอนุสัญญา โดยเฉพาะอนุสัญญาที่เป็นมาตรฐานแรงงานขั้นพื้นฐานหรืออนุสัญญาหลัก (Core Conventions) ซึ่งให้การคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานในการทำงานที่คนทำงานทุกคนควรได้รับ จำนวน 8 ฉบับ ซึ่งประเทศไทยเพิ่งให้สัตยาบันไปเพียง 5 ฉบับ

         ในวันกรรมกรสากลของทุกปี นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535 เป็นต้นมา    ขบวนการแรงงานในประเทศไทย  ได้มีมติเป็นเอกฉันท์ร่วมกันยื่นข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล  ให้ดำเนินการให้สัตยาบันอนุสัญญาทั้งสองฉบับ   ข้อเรียกร้องนี้เป็นข้อเรียกร้องที่ยื่นต่อเนื่องกันมาทุกปี ขณะนี้เป็นเวลากว่า 21 ปีแล้ว แต่ทุกรัฐบาลต่างบ่ายเบี่ยงและเพิกเฉยต่อข้อเรียกร้องดังกล่าว

        การที่รัฐบาลเพิกเฉยและบ่ายเบี่ยงที่จะให้สัตยาบันอนุสัญญาสองฉบับนี้ คือ การปฏิเสธไม่ยอมรับไม่ให้ผู้ใช้แรงงานในประเทศไทย  ได้มีสิทธิในการรวมตัวและเจรจาต่อรองร่วม   เป็นความจงใจและสมรู้ร่วมคิดเพื่อที่จะให้มีการละเมิดสิทธิและเอารัดเอาเปรียบผู้ใช้แรงงานในประเทศไทย ส่งผลให้ประเทศเป็นประเทศที่ผู้ใช้แรงงานเข้าถึงสิทธิการรวมตัวน้อยมาก คือ ราว 1.5 % ของผู้ใช้แรงงานทั้งหมด ซึ่งถือเป็นลำดับท้าย ๆ ของโลกเลยทีเดียว
        การไร้ซึ่งสิทธิในการรวมตัวและเจรจาต่อรองร่วมของผู้ใช้แรงงานในประเทศไทย มีผลให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำ ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนอยู่ในอัตราที่สูงมากระดับต้นๆของโลก คือ ห่างกันถึง 14 เท่า ผลจากช่องว่างดังกล่าว แรงงานจำนวนมากจึงเข้าไม่ถึงบริการและสวัสดิการของรัฐ มีมาตรฐานการครองชีพต่ำ ทั้งทางด้านสุขภาวะ การศึกษา และเศรษฐกิจไม่มีอำนาจต่อรองทั้งในทางเศรษฐกิจ   สังคม และการเมือง


        ท่ามกลางความเฟื่องฟูของแนวคิดด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย แต่สถานการณ์ความเป็นจริงที่เกิดขึ้นกับแรงงานกลุ่มต่างๆกลับเป็นไปในทางตรงข้าม เสรีภาพต่อความหวาดกลัวของการรวมกลุ่มและเจรจาต่อรองถูกรัฐและทุนไทยโหมกระหน่ำซัดซ้ำแล้วซ้ำเล่า ภาพการละเมิดสิทธิแรงงานกลายเป็นความชินชา ถูกเพิกเฉย และดูราวกับว่านี้เป็นเรื่องปกติธรรมดาของสังคมไทยที่ไม่จำเป็นต้อง "ใส่ใจและให้คุณค่าศักดิ์ศรีความเป็นแรงงาน" เท่าใดนัก สังคมไทยทนเห็นเรื่องความไม่เป็นธรรมต่อแรงงานนี้ได้อย่างสบายโดยไม่รู้สึกทุกข์ร้อน ปัญหาของแรงงานกลายเป็นเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องกับคนในสังคม กลับกลายเป็นปัญหาของ "คนอื่น"


        อีกทั้งโครงสร้างและกฎหมายด้านแรงงานในประเทศไทย โดยเฉพาะพ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ไม่มีกลไกที่จะทำให้แรงงานสามารถต่อสู้เพื่อเข้าถึงสิทธิแรงงานด้วยตัวของเขาเองได้ การอ้างความมั่นคงของชาติกลับกลายเป็นเครื่องมือสร้างความชอบธรรมในการที่จะไปละเมิดกฎหมายซึ่งให้การคุ้มครองหรือการประกันสิทธิต่างๆของแรงงาน


        ดังนั้นกล่าวได้ว่าวันนี้การเรียกร้องให้รัฐบาลไทยรับรองอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 นี้ จึงมิใช่โจทย์ทางการเมืองของการต่อสู้ว่า "ใครแพ้-ใครชนะอีกต่อไปแล้ว"


        พวกเราตระหนักดีว่ารัฐบาลไทยมีความพยายามในการรับรองอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 อย่างไรก็ตามบทบาทของรัฐบาลในยุคปัจจุบัน สะท้อนให้เห็นชัดว่า

      
        รัฐบาลยังขาดความจริงจังในการสร้างบรรยากาศเพื่อเอื้ออำนวยแก่การระดมความร่วมมือเพื่อสร้างอนาคตที่ดีของคุณภาพชีวิตผู้ใช้แรงงานร่วมกัน การเจรจาต่อรองเพื่อสร้างความร่วมมือในการผลักดันให้รับรองอนุสัญญากลายเป็นเพียงเรื่องของวิวาทะแบบโต้วาที คือ รับฟังแต่ไม่ดำเนินการ เจรจาเพื่อให้แบบผ่านไปวันๆและมองเห็นเพียงคู่ขัดแย้งขั้วตรงข้ามที่เห็นเพียง "ทุน" และ "แรงงาน" เท่านั้น การมองที่พยายามตีขลุมโดยผลักคู่ตรงข้ามให้กลายเป็น "คนผิด" ยิ่งจะทำให้ความสัมพันธ์ที่จะเชื่อมต่อในอนาคต "ขาดสะบั้น" แบบง่ายดาย
        ดังนั้นไม่มีเหตุผลใดๆอีกแล้วที่รัฐบาลจะไม่รับรองอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 การเพิกเฉยใส่เกียร์ว่างต่อกระแสเพรียกหาคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ใช้แรงงาน ถือได้ว่าเป็นทิศทางการพัฒนาประเทศไทยที่สวนทางกับกระแสที่ยึดเอาปัญหาของประชาชนระดับล่าง และสิทธิมนุษยชนเป็นหนทางนำ
        ด้วยตระหนักดีว่า ความมั่นคงของรัฐและความมั่นคงของคุณภาพชีวิตแรงงานย่อมเป็นสิ่งซึ่งสัมพันธ์และไม่อาจแยกขาดจากกัน หากไร้ซึ่งการรวมกลุ่มและเจรจาต่อรองอย่างเสรีแล้ว ย่อมยากยิ่งที่คุณภาพชีวิตแรงงานจะงอกเงยขึ้นมาได้ เพราะเมื่อเสรีภาพในการรวมกลุ่มและเจรจาต่อรองถูกลิดรอน ผลกระทบไม่เพียงเกิดกับผู้ใช้แรงงานเพียงเท่านั้น เพราะเมื่อคุณภาพชีวิตแรงงานไม่สามารถเกิดขึ้นได้ สังคมย่อมไม่อาจดำรงอยู่อย่างมั่นคงได้ในโลกสมัยใหม่ซึ่งต้องอาศัยพลังแรงงานเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ

        การให้ความสำคัญต่อเรื่องความมั่นคงของคุณภาพชีวิตแรงงาน ไม่ได้หมายถึงจะเข้ามาแทนที่ความมั่นคงของรัฐและความมั่นคงของทุน แต่นี้คือการเสริมกำลังให้เข้มแข็งขึ้นต่างหาก ความมั่นคงทั้งสามประการนี้ต้องการกันและกันและช่วยเสริมกัน


        การรวมตัวของพี่น้องแรงงานในรูปแบบสหภาพแรงงาน สหพันธ์แรงงาน เครือข่ายแรงงาน ศูนย์ประสานงานแรงงาน จึงเป็นความจำเป็นและเป็นหนทางที่ดีที่สุดทางหนึ่งในการคุ้มครองสิทธิแรงงาน เพราะการรวมตัวเป็นองค์กรเปรียบเสมือนปราการด่านแรกที่จะทำให้พี่น้องแรงงานมีโอกาสในการเจรจาต่อรองกับนายจ้างหรือภาครัฐ เพื่อให้ตนสามารถเข้าถึงสิทธิแรงงานรวมถึงสิทธิด้านอื่นๆของตนเองได้


        วันนี้พวกเราเครือข่ายองค์กรแรงงานต่างๆ ในนามของคณะทำงานผลักดันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 ซึ่งได้ก่อตั้งและดำเนินการรณรงค์เรียกร้องในประเด็นนี้อย่างต่อเนื่องนับแต่ปี พ.ศ. 2552 เป็นต้นมา จึงเห็นร่วมว่าหมดเวลาแล้วที่รัฐบาลจักบิดพลิ้วและโยกโย้ทอดเวลาการให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 ออกไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด








   






พวกเราขอยื่นคำขาดต่อรัฐบาลไทยภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร ต้องมีข้อตกลงที่ชัดเจนกับเครือข่ายองค์กรแรงงานในวันที่ 7 ตุลาคม 2556 ซึ่งเป็นวันงานที่มีคุณค่าที่ผู้ใช้แรงงานทั่วโลกออกมารณรงค์เพื่อให้เกิดคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ใช้แรงงาน โดยมีการดำเนินการเพื่อให้คณะรัฐมนตรี (ครม.)เห็นชอบในหลักการเรื่องการรับรองอนุสัญญาทั้ง 2 ฉบับ ภายในเดือนพฤษภาคม 2557 เพื่อเป็นของขวัญสำหรับผู้ใช้แรงงาน เนื่องในวันกรรมกรสากล ทั้งนี้ถ้ารัฐบาลยังคงไม่มีรูปธรรมการตัดสินใจชัดเจนในวันที่ 7 ตุลาคม 2556 คณะทำงานผลักดันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 มีมติร่วมกันเป็นเอกฉันท์ให้มีการชุมนุมยืดเยื้อของผู้ใช้แรงงานที่หน้าทำเนียบรัฐบาล ไปจนกว่ารัฐบาลจะมีข้อตกลงที่ชัดเจนต่อไป


หยุดละเมิดสิทธิแรงงาน
ถึงเวลารัฐบาลไทยต้องให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98
แถลงโดย คณะทำงานผลักดันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98
2 ตุลาคม 2556 ณ ห้องประชุม นิคม จันทรวิทุร ชั้น 5 กระทรวงแรงงาน