ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายจากการเตรียมการให้คำปรึกษา
ของกลุ่มภาคประชาสังคมในระดับประเทศและภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
เพื่อเสนอต่อรัฐบาลไทยและที่ประชุม UNHLD ครั้งที่ ๒
ว่าด้วยเรื่อง การย้ายถิ่นและการพัฒนา ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๖



ตามที่ที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ในเดือนกันยายน 2549 (sixty-first session of the General Assembly held in September 2006-A/61/251) ได้กำหนดประเด็นที่อยู่ในความสนใจของสมาชิกสหประชาชาติทั้งหมด จำนวน 8 ประเด็น โดยประเด็นที่อยู่ในความสนใจนั้นมีประเด็นทางด้านการสนับสนุนการเติบโตทางด้านเศรษฐกิจและการพัฒนาแบบยั่งยืน ("B. Promotion of sustained economic growth and sustainable development…") ซึ่งการพัฒนาและการย้ายถิ่นระหว่างประเทศ (International on Migration and Development) เป็นส่วนหนึ่งที่จะต้องมีการปฏิบัติการให้เกิดขึ้นในเชิงรูปธรรม สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติได้จัดให้มีการสานเสวนาระดับสูง (High-Level Dialogue on international migration and development or UNHLD) ขึ้นเป็นครั้งแรก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อหารือและแลกเปลี่ยนประเด็นด้านการพัฒนาและการย้ายถิ่นระหว่างประเทศในมิติต่างๆ และต่อมาสมัชชาแห่งสหประชาชาติได้กำหนดให้มีการสานเสวนาระดับสูง เป็นครั้งที่สองในเดือนตุลาคม 2556 การสานเสวนาระดับสูงนี้จะเป็นเวทีเพื่อเปิดโอกาสให้มีการแลกเปลี่ยนด้านนโยบายด้านการย้ายถิ่นระดับโลก และกำหนดประเด็นที่จะให้มีการวิจัย การพัฒนาในด้านนโยบาย ในระดับประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับโลก

เครือข่ายประชากรข้ามชาติ (MWG) ได้เข้าร่วมประชุมระดับประเทศ ระหว่างวันที่ 18-19 พฤษภาคม 2556 และระดับภูมิภาคระหว่างวันที่ 27-28 พฤษภาคม 2556 โดยการสนับสนุนขององค์กร Migrant Forum in Asia (MFA) เพื่อเตรียมการพิจารณาการให้คำปรึกษาของภาคประชาสังคม และได้จัดทำข้อเสนอในเชิงนโยบายด้านการพัฒนาและการย้ายถิ่นต่อรัฐบาลและที่ประชุม UN High-level Dialogue on Migration and Development (UNHLD) ครั้งที่ 2 ที่จะจัดขึ้น ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2556 ดังต่อไปนี้



ข้อเสนอเชิงนโยบายด้านการพัฒนาและการย้ายถิ่นระดับประเทศ

1. การจัดระเบียบบริการจัดหางานสำหรับแรงงานข้ามชาติ

ในช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมา ประเด็นเรื่องระบบบริการจัดหางานสำหรับแรงงานข้ามชาติ เป็นประเด็นหลักที่หน่วยงานภาคประชาสังคมที่ได้ให้ความสำคัญ เป็นลำดับต้นๆ เนื่องจากเป็นจุดเริ่มต้นของการย้ายถิ่นเพื่อการแสวงหางานทำ และเป็นจุดที่แรงงานข้ามชาติมีความเสี่ยงที่จะถูกเอารัดเอาเปรียบ ในขณะเดียวกันกับที่ฝ่ายรัฐบาลก็ได้แสดงท่าทีรับรู้ถึงความจำเป็นในการปรับปรุงกลไกและ กฎเกณฑ์สำหรับภาคส่วนดังกล่าวแต่เมื่อพิจารณาในเชิงปฏิบัติแล้วพบว่าทางภาครัฐยังไม่สามารถลดการแสวงหาประโยชน์อย่างไม่เป็นธรรมต่อผู้ใช้แรงงานข้ามชาติได้อย่างเป็นรูปธรรม การเข้าไม่ถึงข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจของแรงงานข้ามชาติ ขณะเดียวกันจากประสบการณ์ของแรงงานข้ามชาติก็พบว่ายังมีความแตกต่างระหว่างขั้นตอน ที่กฎหมายระบุไว้กับขั้นตอนที่นายหน้าใช้ปฏิบัติจริงอย่างได้ชัด ไม่ว่าจะเป็น จัดทำสัญญาในเชิงเป็นผู้รับดำเนินการแทนไม่ใช่คู่สัญญาที่แท้จริง สัญญาซ้ำซ้อน การกู้เงินที่มีภาระผูกพันกับสัญญาจ้างงาน การไม่ปฏิบัติตามสัญญา สัญญาไม่เป็นธรรม การสมรู้ร่วมคิดทุจริต ระหว่างนายหน้า เจ้าพนักงาน และหน่วยงานที่ให้กู้ยืมเงิน ตลอดจนการเบิกจ่ายโดยไม่มีใบเสร็จ เป็นต้น ซึ่งสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ยังเป็นปัญหาหลักในกระบวนการจัดหางานสำหรับแรงงานข้ามชาติมาโดยตลอด นอกจากนั้นแล้วยังพบว่าเมื่อมีปัญหาแรงงานข้ามชาติก็ไม่สามารถเข้าถึงกลไกคุ้มครองตามกฎหมายที่มีอยู่ เนื่องด้วยข้อจำกัดในฐานะที่เป็นแรงงานข้ามชาติ และอุปสรรคในเชิงระบบการคุ้มครองของประเทศต้นทางและปลายทาง


เครือข่ายประชากรแรงงานข้ามชาติ มีข้อเสนอว่า
1.    ลดขั้นตอนการจัดหางานที่ซับซ้อนและค่าธรรมเนียมนอกระบบที่มีราคาแพง
2.    มีมาตรการที่เข้มงวดต่อการจัดการปัญหาทุจริตคอรัปชั่นที่มีส่วนทำให้แรงงานข้ามชาติต้องแบกรับภาระค่าบริการจัดหางานที่แพงขึ้น รวมถึงมีมาตรการการลงโทษต่อผู้กระทำผิดอย่างจริงจัง เพื่อจัดการกับปัญหาทุจริตคอรัปชั่นในขั้นตอนการจัดหางาน
3.    เพิ่มศักยภาพของระบบควบคุมติดตามผล (monitoring system) สำหรับหน่วยงานจัดหางาน ที่ถูกขึ้นบัญชีดำ และเพิ่มความเชื่อมั่นในการจัดการกับหน่วยงานบริการจัดหางานที่ละเมิดกฎหมาย ว่าจะถูกขึ้นบัญชีดำและได้รับบทลงโทษ
4.    ริเริ่มกองทุนระหว่างประเทศเพื่อให้บริการเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ โดยอาจจะสนับสนุนให้มีการริเริ่มโครงการกองทุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำระหว่างประเทศสำหรับกลุ่มแรงงานต่างชาติที่กำลังหางานและต้องการใช้บริการเงินกู้สำหรับผู้มีรายได้น้อยแบบไม่ต้องใช้หลักประกัน (micro credit) โดยรัฐสมาชิกสามารถช่วยเหลือกลุ่มแรงงานข้ามชาติในเรื่องสถานะทางกฎหมายเพิ่มเติม นอกจากนั้นโครงการเงินกู้ดังกล่าวควรให้บริการผ่าน "ธนาคารแรงงาน (Labor Bank)" และสามารถเข้าถึงได้ในระดับชุมชน
5.    รัฐประเทศต้นทางและปลายทางควรจะต้องมีมาตรการผลักดันให้เกิดการเตรียมความก่อนการเดินทางไปทำงานต่างประเทศ รวมทั้งการจัดทำข้อมูลเผยแพร่ต่อสาธารณชนในเรื่องการเดินทางไปทำงานต่างประเทศ และระบบการจัดหางานเพื่อเป็นหลักประกันให้แรงงานข้ามชาติมีความรู้ความเข้าใจในการตัดสินใจในการเดินทางไปทำงานในประเทศปลายทาง ทั้งนี้ควรมีการระบุหรือกำหนดประเด็นดังกล่าวในเงื่อนไขการทำงานระหว่างประเทศต้นทางและปลายทางอย่างชัดเจนเพื่อให้เกิดหลักปฏิบัติร่วมกัน



2. แรงงานข้ามชาติในสถานการณ์ยากลำบาก

ผู้ย้ายถิ่นที่อยู่ในสถานการณ์ยากลำบาก จากสภาวการณ์ฉุกเฉินได้รับความสนใจจากองค์กรพัฒนาเอกชน และนานาชาติเป็นพิเศษโดยเฉพาะในช่วงเหตุการณ์คลื่นสึนามิพัดถล่ม เมื่อปี 2547 และเหตุการณ์น้ำท่วมในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เมื่อปี 2554 ความไม่ชัดเจนด้านฐานข้อมูลของแรงงานข้ามชาติก่อให้เกิดความยากลำบากในการติดตามหาแรงงานข้ามชาติที่อาจจะเสียชีวิตหรือหายไปในช่วงที่เกิดภัยพิบัติ เกิดความเสี่ยงต่อการถูกจับกุมเนื่องจากแรงงานข้ามชาติได้ย้ายมาอยู่ในพื้นที่ปลอดจากเหตุภัยพิบัติแต่เป็นพื้นที่ที่อยู่นอกพื้นที่ที่ได้รับอนุญาตให้แรงงานข้ามชาตินั้นอาศัยอยู่ หรือถูกจับกุมตัวเนื่องจากใบอนุญาตทำงานหรือเอกสารทางราชการออกให้นั้นสูญหายไป การขาดความรู้ความเข้าใจถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อขอรับการช่วยเหลือ เนื่องจากข้อมูลที่ประกาศให้ความช่วยเหลือหรือผ่านการโทรศัพท์ร้องเรียนนั้น ส่วนใหญ่ยังเป็นการใช้ภาษาไทย อีกทั้งรัฐบาลไทยยังขาดแผนระยะยาวเรื่องการจัดการกับประเด็นการคุ้มครองสิทธิแรงงานหลังจากที่สถานประกอบการประสบปัญหาในช่วงเกิดภัยพิบัติและไม่สามารถจ้างงานในช่วงระยะเวลาต่อไปได้ นอกจากนี้ยังพบว่าจากเหตุการณ์ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นที่ผ่านมานั้น กระบวนการหรือขั้นตอนในการส่งแรงงานข้ามชาติกลับประเทศต้น ก็ยังไม่มีความชัดเจนและเหมาะสมกับความต้องการและความปลอดภัยของแรงงานข้ามชาติ

ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่ภาครัฐจำเป็นที่จะต้องมีการพิจารณาให้คำนิยามใหม่ต่อการมีปฏิสัมพันธ์ของกลไกการคุ้มครองผู้ย้ายถิ่นระหว่างประเทศในประเด็นเรื่องการเป็นผู้ย้ายถิ่นตกค้าง โดยพิจารณาในมิติด้านสิทธิมนุษยชนเพิ่มมากขึ้น

ต่อประเด็นนี้เครือข่ายประชากรแรงงานข้ามชาติ มีข้อเสนอว่า


"จะต้องมีการผลักดันให้เกิดมาตรฐานขั้นต่ำระหว่างประเทศในการให้ข้อมูลข่าวสารต่อผู้ย้ายถิ่นตกค้างที่อยู่ในภาวะต้องการ ความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนหรือในสถานการณ์ฉุกเฉิน"
   ผลักดันให้เกิดมาตรฐานระหว่างประเทศและกลไกการดำเนินการภายในประเทศในเรื่องการให้ความช่วยเหลือของประเทศปลายทางสู่ผู้ย้ายถิ่นตกค้างที่อยู่ในภาวะต้องการความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน
o    การบริการออกเอกสารต่างๆให้ใหม่ไม่ว่าจะเป็น เอกสารประจำตัว ใบอนุญาตทำงาน  (work permits) และหลักฐานการอนุญาตให้เข้าประเทศ (visa)
o    ละเว้นการดำเนินคดีในเรื่องการเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายกับแรงงานข้ามชาติที่ไม่ได้จดทะเบียน โดยเฉพาะในระหว่างสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อที่จะให้พวกเขาสามารถเข้ารับการบรรเทา สาธารณภัยและ ได้รับการช่วยเหลืออย่างไม่ถูกเลือกปฏิบัติ รวมถึงยกเว้นในเรื่องค่าธรรมเนียม ค่าปรับในกรณีที่ไม่สามารถดำเนินการต่ออายุ หรือดำเนินการเรื่องเอกสารประจำตัวและการขออนุญาตทำงาน หรือกรณีการดำเนินการเอกสารอื่นใดต่อแรงงานข้ามชาติที่ตกอยู่ในสถานการณ์ฉุกเฉิน
1.    ริเริ่มแนวทางและความร่วมมือระหว่างประเทศระหว่างผู้ช่วยฑูตฝ่ายแรงงาน (labor attach?) ในการให้ความช่วยเหลือ และบรรเทาทุกข์ให้กับผู้ย้ายถิ่นในภาวะที่ต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วน และเสริมความเชื่อมั่นว่าการให้ความช่วยเหลือจากผู้ช่วยฑูตฝ่ายแรงงานจะขยายไปถึงผู้ย้ายถิ่นจาก ประเทศอื่นตามลำดับโดยไม่คำนึงถึงเชื้อชาติและศาสนา

3. สิทธิแรงงาน

ในประเทศปลายทางหลายประเทศ รวมทั้งในประเทศไทย แรงงานข้ามชาติโดยเฉพาะกลุ่มแรงงานข้ามชาติที่ทำงานรับใช้ในบ้าน (migrant domestic workers) และแรงงานข้ามชาติที่ไม่จดทะเบียน (irregular migrants) มักไม่ถูกไม่ถูกคุ้มครองภายใต้ในกฎหมายแรงงาน อีกทั้งแรงงานที่ทำงานในบางประเภท เช่น แรงงานทางทะเล (seafarers) แรงงานตามฤดูกาล (seasonal workers) และ แรงงานภาคเกษตรกรรม (argricultural workers) ต่างก็มิได้อยู่ภายใต้การคุ้มครองของกฎหมายแรงงานในประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิทธิในด้านการสมาคม (association) และสิทธิในการต่อรองร่วม (collective bargaining)  หรือแม้แต่ในกรณีที่ กฎหมายแรงงานภายในประเทศ สามารถคุ้มครองแรงงานข้ามชาติเหล่านี้ การบังคับใช้กฎหมาย และกลไกการชดเชยก็มักจะยังมีปัญหาให้พบเจอ เช่น การที่แรงงานข้ามชาติรู้สึกว่าถูกข่มขู่โดยนายจ้าง และกลัวผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการร้องเรียน  รวมถึงอุปสรรคด้านภาษา  จนทำให้แรงงานดังกล่าวต้องตัดสินใจที่จะนิ่งเฉยหรือไม่ดำเนินการใด ๆ เนื่องจากกลัวว่าจะสูญเสียงาน ตลอดจนการที่แรงงานขาดช่องทางในการเข้าถึงความช่วยเหลือ ทำให้แรงงานข้ามชาติจำนวนไม่น้อยไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย ดังนั้นเพื่อให้เกิดการคุ้มครองแรงงานข้ามชาติ การได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานและตามมาตรฐานสิทธิแรงงาน  รัฐบาลควรดำเนินการบังคับใช้กฎหมายคุ้มครองแรงงาน และสร้างกระบวนการในการเข้าถึงการคุ้มครองตามกฎหมายอย่างจริงจัง


ต่อประเด็นดังกล่าว เครือข่ายประชากรแรงงานข้ามชาติ มีข้อเสนอว่า

1.    แรงงานข้ามชาติควรมีสิทธิได้รับการว่าจ้างและคุ้มครองภายใต้กฎหมายเช่นเดียวกับประชาชนของประเทศนั้นๆ
2.    แรงงานข้ามชาติที่ไม่ได้รับรองสถานะว่าเป็นผู้ลี้ภัย (refugees) หรือผู้แสวงหาที่พักพิง (asylum seekers)  ควรมีสิทธิได้รับการว่าจ้างและคุ้มครองเช่นเดียวกับแรงงานที่ได้รับการขึ้นทะเบียนในขณะที่รอการส่งกลับประเทศ (repatriation) และรอการตั้งถิ่นฐานใหม่ (resettlement)

3.    ผลักดันให้เกิดมาตรฐาน หรือกรอบการดำเนินงานขั้นต่ำระหว่างประเทศ รวมทั้งแนวทางการดำเนินการภายในประเทศว่าด้วยการทำสัญญาจ้างงาน ซึ่งควรประกอบไปด้วย
o    ขั้นตอนและกลไกการจ้างงาน
o    สัญญาจ้างงานควรถูกร่างขึ้นพร้อมกันในสองภาษา ทั้งภาษาของประเทศที่ว่าจ้างงานและ ภาษาของผู้ย้ายถิ่นเองโดยสัญญาดังกล่าวควรมีสถานะทางกฎหมายที่เท่าเทียมกัน
o    ควรมีการกำหนดบทลงโทษและการรับผิดสำหรับในกรณีที่หน่วยงานบริการจัดหางาน ละเมิดกฎหมาย

4.    เพิ่มอำนาจการต่อรองให้กับผู้ย้ายถิ่นโดยการลงนามในสนธิสัญญาต่างๆขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization: ILO)
5.    ปรับมาตรฐานของสัญญาจ้างงานเพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นว่าแรงงานข้ามชาติจะได้รับข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับ สิทธิที่จะเข้าร่วมชุมนุมและการประท้วงตามกฎหมาย (rights to participate in protest and demonstration) ตลอดจนสิทธิในการร่วมเจรจาต่อรอง (rights to collective bargaining)


6.    ริเริ่มมาตรฐานระดับนานาชาติสำหรับแรงงานต่างชาติในการส่งเสริมประเด็นเรื่องสิทธิในการเจรจา ต่อรองร่วมและสิทธิในการจัดตั้งสหภาพแรงงาน ให้ความเชื่อมั่นว่าการเจรจาต่อรองร่วมจะไม่ถูกมองว่า ขัดต่อผลประโยชน์แห่งชาตินั้นๆ โดยรัฐสมาชิกควรใช้มาตรฐานเดียวกันกับกฎหมายในประเทศของตน นอกจากนั้นลูกจ้างที่เป็นแรงงานข้ามชาติจึงพึงที่จะมีสิทธิเสรีภาพในการสมาคม การชุมนุมในที่สาธารณะ และการเจรจาต่อรองร่วมเช่นเดียวกับประชาชนของประเทศนั้นๆ
7.    ริเริ่มผลักดันมาตรฐานเกี่ยวกับการจัดตั้งสหพันธ์แรงงานระดับภูมิภาค

8.    ปรับกฎหมายเพื่ออนุญาตให้แรงงานข้ามชาติไม่ถูกจำกัดประเภทของอาชีพงานโดยเฉพาะการถูกจำกัดอยู่ในกลุ่มของแรงงานไร้ฝีมือและแรงงานรับใช้ในบ้านเท่านั้น นอกจากนั้นควรมีการปรับรายชื่อสาขาอาชีพที่ต้องห้ามสำหรับแรงงานข้ามชาติซึ่งการดำเนินการควร อยู่ภายใต้พระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2521 (1978)
9.    ปรับปรุงให้ระบบของสำนักงานประกันสังคมครอบคลุมไปถึงประเด็นเรื่องสิทธิของแรงงานข้ามชาติ ตลอดจนให้มีความสอดคล้องกับสิทธิประโยชน์ที่แรงงานข้ามชาติพึงจะได้รับ

10.    แก้ไขพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ.2537 (1994) เพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับนายจ้าง ที่มีลูกจ้างเป็นแรงงานข้ามชาติว่าจะสามารถเข้าถึงกองทุนเงินทดแทนได้
11.    ส่งเสริมและสนับสนุนแรงงานข้ามชาติให้ได้รับการพัฒนาฝีมือและเพิ่มศักยภาพในการปฏิบัติงาน
12.    อนุญาตให้แรงงานข้ามชาติไร้ทักษะและด้อยทักษะสามารถทำงานได้อย่างมีอิสระเช่นเดียวกับแรงงานที่มีความเชี่ยวชาญ (professional workers) อื่นๆในประชาคมอาเซียน