สรุปการประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่อง
" รู้ เข้าใจ  ประกันสังคมแบบไหนที่เหมาะสมกับแรงงานข้ามชาติ"
          วันที่ 28 กรกฎาคม 2556 เวลา 08.30 - 16.00    
        ณ โรงแรมบีพีเชียงใหม่ซิตี้ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่
           จัดโดย : มูลนิธิเพื่อนหญิง มูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงัน เครือข่ายประชากรด้านแรงงานข้ามชาติ (MWG)
สนับสนุนโดย : USAID  / IRC
ช่วงเช้า 9.00 - 12.00 น.
โดย คุณบัณฑิตย์    ธนชัยเศรษฐวุฒิ    นักวิชาการด้านแรงงาน มูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงัน
อาจารย์ทรงพันธ์  ต้นตระกูล        นักวิชาการมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ดำเนินรายการโดย : บัณฑิต แป้นวิเศษ    หัวหน้าฝ่ายแรงงานหญิงฯ มูลนิธิเพื่อนหญิง
เนื้อหา และวิธีการ :
ใช้รูปแบบกระบวนการแบบมีส่วนร่วม ถาม-ตอบจากผู้เข้าร่วมโดยวิทยากรจะเสริมความรู้เข้าไปในระหว่างการสนทนาแลกเปลี่ยน
กล่าวเปิดการประชุมโดย : ผู้แทนองค์กร IRC
ผู้เข้าร่วมเป็นแรงงานข้ามชาติ และแรงงานกลุ่มชาติพันธ์
( พม่า / มอญ / ไทยใหญ่ / กะเหรี่ยง ฯลฯ ) ที่มีบัตรประกันสังคม และมีการใช้บัตรทอง
ที่ประสบปัญหา จาก 6 อำเภอ จังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 40 คน
1.อำเภอเมือง
2.อำเภอแม่ริม
3.อำเภอสารภี
4.อำเภอดอยสะเก็ต
5.อำเภอหางดง  
6.อำเภอสันกำแพง



 
คำถาม : แรงงานข้ามชาติ รู้ได้อย่างไรว่าตนเป็นผู้ประกันตน
แรงงานข้ามชาติ และแรงงานกลุ่มชาติพันธ์ ให้ความเห็นว่าที่ผ่านมารู้ว่าตนเองถูกหักค่าประกันตนทุกเดือน โดยนายจ้างต้องจ่ายด้วยครึ่งหนึ่ง มีบัตรประจำตัว เป็นผู้ประกันตนมายังไม่ถึงปีเคยใช้บริการที่โรงพยาบาลสวนดวก ตามที่โรงพยาบาล ที่ระบุไว้ในบัตรประกันสังคม   เป็นผู้ประกันตนมาประมาณ 6 เดือนแล้ว ส่วนแรงงานข้ามชาติที่อยู่แม่ริมที่เป็นผู้ประกันตนกล่าวว่าตนเองเป็นสมาชิกฯได้ประมาณ 2 ปีแล้วใช้บริการทั้งที่โรงพยาบาล และคลินิก ส่วนกรณีขอรับค่าทดแทนกรณีผู้ประกันตนเสียชีวิต จะทำหนังสือมอบให้บุคคลใดโดยเฉพาะได้หรือไม่

วิทยากร อ.ทรงพันธ์ ต้นตระกูล : อภิปรายเสริมว่า ผู้รับผลประโยชน์คือทายาท เช่น พ่อ แม่ ภรรยา ลูก ไม่จำเป็นต้องระบุในหนังสือมอบอำนาจ
คุณบัณฑิตย์ฯ : ได้อภิปรายตอบคำถามว่า เมื่อผู้ประกันตนเสียชีวิต ทายาทจะได้รับค่าปลงศพ และค่าสงเคราะห์ 1.5 เท่าของอัตราเงินได้ กรณีที่ไม่มีทายาทผู้ประกันตนอาจจะทำหนังสือแสดงเจตจำนงค์ในการระบุให้บุคคลใดเป็นผู้รับเงินสงเคราะห์ก็ได้ เหมือนการทำพินัยกรรม

วิทยากร ถามต่อว่า : ใครเป็นคนนำแรงงานเข้าประกันสังคม
แรงงานข้ามชาติสะท้อนว่า นายจ้างจะเป็นคนพาไปเข้าประกันสังคม อีกทั้งมาอบรมก็ได้รับความรู้แต่ที่รู้ก็คือทำงานที่โรงงาน มาสมัครงานโรงงานก็ต้องทำประกันสังคมให้ทุกคนเลย

วิทยากรอธิบายในส่วนสิทธิประโยชน์  7 อย่างในประกันสังคมที่แรงงานต้องได้รับเมื่อเป็นสมาชิกประกันสังคม ตาย บาดเจ็บ สงเคราะห์บุตร คลอด ชราภาพ พิการ ในส่วนการแสดงตน และแรงงานต้องเข้ารักษาแรงงานสามารถระบุสถานพยาบาลได้ และต้องนำบัตรประจำตัวประกันสังคมไปแสดงทุกครั้งที่ขอเข้าใช้บริการ การชำระค่าประกันตนไม่จำเป็นต้องชำระต่อเนื่อง เช่น ต้องจ่ายค่าประกันตน 3 เดือน ภายใน 10 เดือนเป็นต้น
การเลือกโรงพยาบาลสามารถเลือกสถานที่ใกล้บ้านหรือที่ทำงานได้เพื่อความสะดวกในการเข้ารับการบริการ นอจากนี้ก็ยังจะสามารถเลือก โรงพยาบาล เอกชนได้อีกด้วย มีคำถามว่าในกรณีเป็นผู้ประกันตน โรงพยาบาลหนึ่ง แต่เจ็บป่วยฉุกเฉินจะเข้าโรงพยาบาลอีกที่หนึ่งได้หรือไม่  ในกรณีนี้ต้องเข้าโรงพยาบาลตามที่ระบุ หรือจะต้องทำเรื่องให้โรงพยาบาลทำเรื่องส่งตัวไปอีกโรงพยาบาลหนึ่งแต่ถ้าเป็นกรณีฉุกเฉินสามารถเข้าโรงพยาบาลไหนก็ได้ แล้วจึงทำเรื่องส่งตัวไปทีโรงพยาบาลสังกัดในภายหลัง

อาจารย์บัณฑิตย์ ธนชัยเศรษฐวุฒิ กล่าวเสริมว่า กรณีการเจ็บป่วยมี 2 ประเภท คือ เจ็บป่วยทั่วไป เรื้อรังจะต้องเข้ารับบริการที่โรงพยาบาลที่ระบุไว้ในบัตรประกันสังคม และเจ็บป่วยฉุกเฉิน อุบัตุเหตุ สามารถเข้าโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดได้ หรือกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน ก็สามารถเข้าโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดได้เช่นกัน ทั้งนี้การรักษาต่างโรงพยาบาลจะสามารถรักษาไม่เกิน 72 ชั่งโมง หลังจากนั้นอาจจะต้องจ่ายค่ารักษาด้วยตนเอง หรือ โรงพยาบาลที่รักษาจะส่งตัวกลับไปรักษาที่ โรงพยาบาล ตามที่ระบุก็ได้ ด้านบัตร 30 บาทรักษาได้ทุกโรค ก็สามารถใช้โรงพยาบาล นอกชื่อที่ระบุกรณีฉุกเฉินได้เช่นกัน  การเบิกจ่ายต่าง โรงพยาบาล สามารถทำได้เป็นเรื่องที่ทางโรงพยาบาลจะประสานงานเพื่อเรียกเก็บเงิน ส่วนค่าทำฟัน   ประกันสังคมจะจ่าย ไม่เกิน 600 บาท รายละเอียดตามแผ่นพับ

มีปัญหาว่า นายจ้างโรงงานไม่ยอมพาแรงงานต่างด้าวเข้าประกันสังคม

อาจารย์บัณฑิตย์ เสริมข้อมูลว่าประเทศไทยมีแรงงานฯอยู่หลายประเภท คือ
1. แรงงานที่เข้าเมืองถูกกฎหมายตามกฎหมายส่งเสริมการลงทุน 
2. แรงงานที่เข้าเมืองผิดกฎหมาย ซึ่งแรงงานกลุ่มหลังนี้รัฐได้ควบคุมการทำงานอยู่ค่อนข้างมาก และมักไม่เคร่งครัดการบังคับใช้กฎหมายและเคร่งครัดในเรื่องการควบคุม
3. แรงงานที่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติ แรงงานไม่ได้รับการสนับสนุนให้ได้รับความสะดวกในการพิสูจน์สัญชาติ ทำให้แรงงานต้องพึ่งพาระบบนายหน้า มีค่าใช้จ่ายมาก
4.แรงงานแบบ G to G หรือ บันทึกข้อตกลง (MoU) การเข้าระบบประกันสุขภาพหรือประกันสังคมเป็นการป้องกันและรักษาโรค

โดยเฉพาะในกลุ่มบุคคลเข้าเมืองที่จะต้องได้รับการตรวจสุขภาพ
อาจารย์ทรงพันธ์ พูดถึงสิทธิประโยชน์ในประกันสังคม มี 7 สิทธิประโยชน์ และมีเงื่อนไขการใช้ที่แตกต่างกัน
อย่าง กรณีเงินชราภาพดูจะขัดแย้งกับสภาพการเข้าเมืองของแรงงานข้ามชาติ  ที่อยู่ในราชอาณาจักรได้ไม่เกิน  4 ปี เท่านั้น หรือกรณีค่าคลอดและค่าสงเคราะห์บุตร แรงงานเห็นควรให้คงไว้หรือยกเลิกสิทธิข้อนี้หรือไม่อย่างไร? ในเรื่องนี้แรงงานฯไม่เข้าถึงสิทธิทั้ง 7 ประการ เช่น สามีเป็นผู้ประกันตนจะบิกค่าคลอดบุตรให้ภรรยา ก็จะถูกเรียกทะเบียนสมรส ในขณะที่แรงงานฯไม่สามารถจดทะเบียนสมรสในไทยได้ หรือกรณีชราภาพที่จะจ่ายเมื่อผู้ประกันตนอายุ 55 ปี โดยจะจ่ายใน 2 ลักษณะ คือ บำเน็จและบำนาญ แต่แรงงานอยู่ในไทยไม่ถึง ในส่วนของชราภาพก็จะสามารถรับเงินคืนได้ตามที่กำหนดหรือระยะเวลาที่ชำระค่าประกันตนไว้
อาจารย์บัณฑิตย์ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าการขอรับสิทธิประโยชน์กรณีสามีเป็นผู้ประกันตน และเบิกให้ภรรยาที่ไม่เป็นผู้ประกันตน คนไทยกรณีที่ไม่มีทะเบียนสมรสสามารถให้ผู้นำชุมชนรับรองการอยู่กินฉันท์สามีภรรยาได้ แต่กรณีแรงงานอาจจะไม่ง่ายเนื่องจากอาจจะไม่มีความนิติสัมพันธ์กับผู้นำชุมชน ซึ่งถือเป็นปัญหาในทางปฎิบัติไม่ใช่ข้อกฎหมาย

ข้อยกเว้น ไม่ต้องเข้ากองทุนประกันสังคม
แรงงานที่ทำงานบ้าน ที่ไม่ประกอบธุรกิจ  เพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้รับใช้ในบ้าน  / แรงงานในภาคเกษตร

คำถามว่าประกันสังคม ดีกว่าประกันสุขภาพหรือไม่
แรงงานข้ามชาติ และแรงงานชาติพันธ์ที่เข้าระบบประกันสังคมได้สะท้อนว่า การมีสิทธิประกันสังคม ทำให้สะดวกและได้รับการดูแลเมื่อไปใช้สิทธิดีโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย แต่ถ้าประกันสุขภาพจะต้องเสียค่าตรวจสุขภาพประจำปี สิทธิประโยชน์ก็น้อยกว่า แต่ก็ต้องดูว่าแรงงานแต่ละคนสะดวกแบบไหนที่จะเอื้อซึ่งอาจกล่าวได้ว่ามันดีคนละแบบ
สรุปภาพรวมประกันสังคม ดีกว่า บัตร 30 บาท หรือบัตรประกันสุขภาพ กล่าวคือ 
1.     ประกันสังคมเลือกโรงพยาบาลได้ ประกันสุขภาพต้องใช้สิทธิที่โรงพยาบาล ตามที่ระบุ
2.    การเข้ารับบริการประกันสังคมต้องใช้สิทธิตามเวลา  ประกันสังคมใช้สิทธิเวลาใดก็ได้
3.    การตรวจสอบสิทธิกรณีมีประกันสังคมสามารถตรวจสอบได้ง่ายสามารถใช้สิทธิได้สะดวกกว่า
4.    ลักษณะการทำงานที่อาจจะมีการเคลื่อนย้ายของแรงงาน อาจจะทำให้นายจ้างไม่ยอมพาแรงงานเข้ากองทุนประกันสังคม
5.    แรงงานที่เป็นผู้ประกันตน ไม่เคยใช้สิทธิแต่ก็ยังจะต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุน เป็นหลักการเฉลี่ยะทุกข์เฉลี่ยสุข
6.    ในกองทุนประกันสังคมจะมีอีกกองทุนหนึ่งคือ กองทุนเงินทดแทนกรณีได้รับอันตรายเนื่องจากการทำงานหรือรักษาผลประโยชน์ของนายจ้าง ยกเว้นมูลนิธิที่ไม่แสวงผลกำไร ข้าราชการ
7.    การเบิกจ่ายตามสิทธิมีอุปสรรคค่อนข้างมาก ไม่ง่ายเหมือนตอนที่เรียกเก็บเงินเข้ากองทุน


คุณบัณฑิต แป้นวิเศษ มูลนิธิเพื่อนหญิง ผู้ดำเนินรายการเวที 
ได้แนะนำสื่อประกอบการ work shop  ประกอบด้วย
ทั้งนี้การจัดประชุมเชิงปฏิบัติการฯครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้เข้าร่วมได้แลกเปลี่ยนหารือว่าประกันสังคมในรูปแบบไหนที่เหมาะสมกับแรงงานข้ามชาติและแลกเปลี่ยนสถานการณ์ประกันสังคมที่แรงงานข้ามชาติประสบพบเจอเพื่อนำไปสู่การแก้ไขปรับปรุงให้มีความเหมาะสมและแรงงานทุกคนได้เข้าถึงสิทธิประกันสังคมต่อไป
แนวทางการเคลื่อนไหว
1.    ผลิตสื่อให้เหมาะสม และมีช่องทางในการให้ข้อมูลกับแรงงานข้ามชาติ ที่เข้าถึงได้จริงๆ
2.    ให้มีการจัดเวทีพูดคุย แลกเปลี่ยน  สะท้อนปัญหาที่เกิดขึ้นในระดับพื้นที่
3.    ยื่นหนังสือต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
4.    แก้ พรบ. การทำงานคนต่างด้าว ในส่วนที่ขัดแย้งกับ พรบ. ประกันสังคม  เช่น  สิทธิประโยชน์ 7 อย่างของประกันสังคม เรื่องเงินประกันการว่างงานที่สามารถขึ้นทะเบียนได้หลังจากว่างงานภ่ยใน 15 วันแต่ในความเป็นจริง แรงงานไม่สามารถว่างงานเกิน 7 วัน  หรือกรณีชราภาพที่แรงงานสามารถอยู่ในประเทศไทยได้เพียง 4 เท่านั้น จะรับสิทธินี้ได้อย่างไร เป็นต้น
5.    ไม่อยากให้มีการเลือกปฎิบัติคนต่างด้าวกับคนไทย
6.    การทำใบขับขี่ มีระบุว่าถือบัตรประเภทใดที่สามารถทำได้หรือไม่ได้ ซึ่งขัดแย้งกับกฎหมายที่ว่ามี่การเลือกปฎิบัติ

วิทยากรได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า
พรบ.คุ้มครองแรงงาน คุ้มครองแรงงานเท่าเทียมกัน สามารถลาออกได้โดยการบอกกล่าวล่วงหน้า แต่ตาม พรบ. การทำงานของคนต่างด้าว แรงงานไม่สามารถลาออกได้ เว้นแต่โรงงานเลิกกิจกรรม นายจ้างตาย นายจ้างละเมิดสิทธิ หรือได้รับความยินยอม แต่ในความเป็นจริงการลาออกหรือการถูกเลิกจ้าง นายจ้างมักไม่ให้ความร่วมมือในการแจ้งออก ซึ่งมันขัดแย้งกันอยู่ อยากให้แก้ไขให้สอดคล้องเหมาะสมกับแรงงานข้ามชาติ

ข้อสังเกต
เป็นหน้าที่ของนายจ้างที่จะต้องนำแรงงานเข้าประกันสังคม กรณีที่บริษัทส่งแรงงานไปทำความสะอาดตามสถานที่ต่างๆถือว่าเป็นการประกอบธุรกิจ ไม่ใช่เป็นแค่แม่บ้านและต้องเข้าสู่ระบบประกันสังคม แรงงานมุ่งคุ้มครองเพราะคนเป็นแรงงานไม่เกี่ยวกับการเข้าเมือง กฎหมายคุ้มครองสำคัญกว่ากฎหมายควบคุม แต่ประเทศไทยอาจจะสวนทางกันคือกำหมายควบคุมสำคัญกว่ากฎหมายคุ้มครองทำให้เกิดกรณีการเข้าไม่ถึงสิทธิต่างๆ

สถานการณ์กฎหมายประกันสังคมกับแรงงานข้ามชาติ

วิทยากรอาจารย์บัณฑิตย์ ให้ข้อมูลเชิงภาพรวม, 3 เรื่องคือ

1.    มีแนวคิดของ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(สส.) ในการร่างกฎหมายมาตราใหม่ กรณีเงินสมทบและสิทธิประโยชน์ของแรงงานฯให้แตกต่างกับคนไทย แต่ไม่ต่ำกว่ามารตราฐาน เช่น สิทธิในค่ารักษาพยาบาล  ก้ยังจำเป็นแต่สิทธิในการว่างงานอาจจะไม่ปรากฎในกฎหมายใหม่ ซึ่งวิทยากรไม่เห็นพ้องกรณีนี้ เนื่องจากมีแนวว่าจะได้สิทธิประโยชน์น้อยลงแต่ไม่ปรากฎข้อมูลว่าจะจัดเก็บให้เหมาะสมอย่างไร  อาจจะมีการตั้งกองทุนพิเศษสำหรับแรงงานต่างด้าวโดยเฉพาะ อีกทั้งกรณีว่างงานก็ยังเป็นปัญหาอยู่ถ้าหากจะไม่มีสิทธิในข้อนี้ หากกิดกรณีที่แรงงานถูกละเมิดสิทธิและถูกเลิกจ้างหรือลาออกก็ไม่เห็นด้วยที่จะไม่ใช้ลูกจ้างใช้สิทธิการว่างงาน และจากประสบการณืเชื่อว่า สส ส่วนใหญ่แนวคิดว่าควรแยกสิทธิประกันสังคมระหว่างคนไทยและต่างด้าว อาจจะส่งผลให้กฎหมายมาตราดังกล่าวผ่านสภาและบังคับใช้ในที่สุด

2.    กรณีเงินบำเน็จ อาจจะแก้ไขให้แรงงานรับสิทธิประโยชน์ทันทีที่สิ้นสุดสภาพการเป็นลูกจ้าง ตามมาตรา 77 ทวิ วรรค 3

3.    NGOs ได้มีการเคลื่อนไหวประเด็นเรื่องประกันสังคมที่เหมาะสมกับแรงงานฯ อาจจะไม่เป็นต้องออกกฎหมายใหม่แต่ให้แรงงานได้เข้าถึงสิทธิทั้ง 7 สิทธิประโยชน์ได้โดยง่าย
แนวโน้มกฎหมายประกันสังคม  อ.ทรงพันธ์ ให้มุมมองว่า

          มีแนวทางการแก้ไขในเงื่อนไขกับรับสิทธิประโยชน์ เช่นกรณีที่จะต้องจ่ายเงินชราภาพแก่แรงงานที่กลับประเทศต้นทาง หรือกรณีว่างงานที่ในข้อเท็จจริงแล้วแรงงานไม่มีโอกาสว่างงานเพราะต้องหางานใหม่ภายใน 15 วัน หรือกรณีเงินสงเคราะห์บุตรที่เงินสงเคราะห์ความจริงก็ไม่เพียงพอต่อการดูแลบุตรและมีแนวโน้มว่าอาจจะถูกยกเลิก ไม่ควรมีการเลือกปฎิบัติระหว่างแรงงานไทยและต่างด้าว ทั้งนี้อาจจะแตกต่างในเรื่องวิธีการ และส่งเสริมให้แรงงานเข้าระบบประกันสังคม ไม่มีใครรู้ว่าจะป่วยเมื่อไร แต่หากเจ็บป่วยขึ้นมาก็จะสามารถเข้าถึงสิทธิได้   แรงงานฯทำประโยชน์ให้แก่ประเทศดังนั้นประเทสไทยเองก็ต้องดูแลแรงงานอย่างเหมาะสม เช่นเดียวกับที่ดูแลคนไทยที่ไปทำงานต่างประเทศ และเรียกร้องให้แรงงานเรียกร้องสิทธิโดยสงบ

        กฎหมายแรงงานไม่เลือกปฎิบัติแรงงานไทย ต่างด้าว และต้องได้รับการคุ้มครองเท่าเทียมกันแม้จะเป็นแรงงานที่เข้าเมืองผิดกฎหมายก็เป็นความผิดตาม พรบ คนเข้าเมืองแต่ในฐานะแรงงานก็ต้องได้รับการคุ้มครองเท่าเทียมกัน คนไทยมีปัยหาในเรื่องทัศนคติที่มีความเชื่อว่าไม่ควรดูแลแรงงานต่างด้าวเท่าเทียมกับคนไทย เป็นมายาคติที่มีความเชื่อว่าแรงงานฯเป็นคนที่เข้ามาสร้างปัญหา ความจริงประเทศไทยมีความก้าวหน้ามากประเทสหนึ่งในอาเวียนที่ดูแลเรื่องแรงงานต่างด้าว ดีกว่าหลายประเทศเช่น ไต้หวัน ฮ่องกง ที่ไม่รับแรงงานที่ท้องหรือเลิกจ้างแรงงานที่ท้องเป็นต้น และจากมายาคติอาจจะทำให้ประเทศไทยกลับล้าหลังเหมือนอีกหลายประเทศได้



กลุ่มที่ 1 ประกันสังคม
1.    ใช้สิทธิได้ไม่ครบ เช่น สิทธิกรณีว่างงาน
2.    อยากจะระบุชื่อผู้รับผลประโยชน์กรณีที่ผู้ประกันตนเสียชีวิต
ประกันสุขภาพ ปัญหาที่พบ
1    เวลาตรวจสุขภาพ มีผลเป็นเอกสารแต่ไม่ได้รับการอธิบายว่าเราเป็นอะไรบ้าง
2    การเลือกโรงพยาบาล ไม่สามารถเลือกได้
3    แรงงานไม่มีความรู้ ความเข้าใจในเรื่องประกันสุขภาพ
แนวทางการเคลื่อนไหว
1.    ยื่นหนังสือถึงผู้ว่าฯและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
2.    จัดเวทีเสวนา อบรมเรื่องสิทธิประกันสังคม เป็นเวทีแลกเปลี่ยนความรู้
ข้อสังเกต :  กรณีเงินสงเคราะห์บุตร กรณีแยกกันผูที่อุปการะบุตรสามารถรับเงินค่าสงเคราะห์บุตรได้ กรณีบิดามารดาเสียชีวิต ผู้ที่อุปการะเลี้ยงดูก็สามารถรับเงินสงเคราะห์ได้

นำเสนอต่อเวทีใหญ่
กลุ่มที่ 3 ปัญหากรณีบัตรประกันสุขภาพ
1.    บัตรประกันสุขภาพช้า ใช้เวลานานในการเข้าไปใช้บริการ
2.    เลือกปฎิบัติกับคนต่างด้าว เช่น รพ. นครพิงค์ คำพูดไม่สุภาพ
3.    สองมาตราฐานในการปฏิบัติรักษาไม่เท่ากัน รู้สึกว่าหมอรักษาไม่ดีพอ จ่ายยาไม่ดี แต่ถ้าจะจ่ายเงินสดจะได้รับการดูแลที่ดี ได้ยาดีกว่า
4.    กรณีเอกสารไม่ครบ หมอปฎิเสธิที่จะให้การรักษา

สิ่งที่อยากให้เป็น
1.    ไม่เลือกปฎิบัติต่อแรงงานฯ รักษามาตราฐานเดียวกัน
2.    กรณีอุบัติเหตุอยากให้รักษาก่อน ไม่ใช่มาเรียกร้องเอกสารประจำตัวหรือเอกสารอื่นๆ
3.    อยากให้สามารถเข้ารับการบริการที่โรงพยบาลใดก็ได้ ไม่อยากให้ระบุเฉพาะโรงพยบาล
4.    อยากได้ข้อมูลเรื่องการต่อใบประกันสุขภาพ

ปัญหาของประกันสังคม
1.    แรงงานไม่เข้าใจว่าประกันสังคมคืออะไร มักใช้เงินสดเวลามารับบริการทางการแพทย์ บางคนเป็นผู้ประกันตนแต่ไม่รู้ว่าตนมีสิทธิอะไร
2.    นายจ้างไม่พาแรงงานเข้ากองทุน
3.    สามีภรรยาที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสจะมีปัยหาการใช้สิทธิประกันสังคมของอีกฝ่ายหนึ่ง
4.    ไม่สามารถใช้สิทธิต่างพื้นที่ได้ ควรใช้ได้ทุก รพ ทั่วประเทศ
5.    แรงงานไม่ทราบข้อมูลในเรื่องช่องทางการใช้สิทธิ

สิ่งที่อยากให้เป็น
1.    สิทธิประโยชน์ควรปรับให้เหมาะสมกับแรงงานทั้ง 7 ประการ แต่ความจริงแรงานใช้สิทธิได้น้อยมาก ทำให้เกิดการไม่อยากเข้าเป็นผู้ประกันตน
2.    อบรมให้ความรู้แก่แรงงานในเรื่องประกันสังคม
3.    ขั้นตอนการใช้สิทธิควรเป็นไปโดยสะดวกเพื่อให้แรงงานเข้าถึงได้ง่าย
4.    ค่าจ้างขั้นต่ำที่แรงงานได้รับ ต่ำกว่าอัตราจ้างขั้นต่ำแต่ต้องเสียเงินสมทบเข้ากองทุนจำนวนมากไม่เหมาะสม
กลุ่มที่ 2 ประกันสังคม
1.อยากให้สมัครและสามารถใช้สิทธิได้ทันที เช่นกรณีเงินคลอดบุตรต้องจ่ายเงินสมทบกว่า 7 เดือนถึงจะใช้สิทธิได้
2.การอยู่กินฉันท์สามีภรรยาที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส คู่สมรสใช้สิทธิได้ยาก
3.อยากให้แรงงานขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตนโดยอิสระไม่อิงกับนายจ้างเพื่อตัดปัยหาที่นายจ้างไม่ให้ความร่วมมือ
4.กรณีรับเงินตามสิทธิชราภาพ ต้องสั่งจ่ายเป็นเช็ค มันจะลำบากมากในการเบิกจ่าย ทั้งในเรื่องระยะเวลาและระยะทาง อยากให้จ่ายเป็นเงินสดทันที่ที่ลูกจ้างแจ้งการสุดสุดระยะเวลาการอยู่ในราชชอาณาจักร
5.กรณีเงอนสงเคราะห์บุตร อยากให้จ่ายจนเด็กอายุ 6 ขวบ แม้ว่าเด็กจะไม่ได้อยู่ในราชอาราจักรก็ตาม
6.อยากให้ภรรยาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของแรงงานต่างด้าวสามารถใช้สิทธิประกันตนของสามีได้ เช่น คลอด สงเคราะห์บุตร ค่าทดแทนกรณีเสียชีวิต
7.ให้ความรู้แก่แรงงานในเรื่องประกันสังคม เอกสารที่เป็นภาษาของแรงงาน
8.กรณีแรงงานประสบอุบัติเหตุอยากให้มีหน่วยงานมาช่วยเหลือเพื่อติดต่อญาติหรือตรวจสอบสถานะบุคคลและสิทธิตามกฎหมาย
8.การระบุโรงพยาบาล บางครั้งก็ไม่สะดวกเวลาที่จะเข้ารับบริการ
9.โรงพยาบาลบริการไม่ดี ไม่เหมือนกับกรณีคนที่จ่ายเงินสด

ข้อสังเกตุ :    กรณีภรรยาใช้สิทธิประกันสังคมของสามี ทะเบียนสมรสเป็นหลักฐานที่สำคัญในการแสดงการเป็นสามีภรรยา หรือกฎหมายปิดช่องให้แสดงเอกสารรับรองจากผู้นำชุมชนได้

กรณีอุบัติเหตุ  ส่วนใหญ่ไม่ค่อยนึกถึงเรื่องประกันสังคม อาจจะส่งโรงพยาบาลก่อน เรื่องสิทธิตามประกันสังคมเป็นเรื่องของทายาท การเลือกโรงพยาบาล มีฐานคิดให้ใช้บริการที่ใกล้ที่สุด แต่ประกันสังคมสามารถเลือกโรงพยาบาล ได้หรือเปลี่ยนได้ง่าย


ช่วงบ่าย ระดมความเห็นข้อเสนอปรับปรุงกฎหมายประกันสังคม

1.    อยากเห็นประกันสังคมทั้งในเรื่องสิทธิประโยชน์และการเข้าถึงสิทธิ มีปัญหาและอยากได้รูปแบบใด

2.    เราอยากได้ประกันสุขภาพในรูปแบบใดในเรื่องของสิทธิประโยชน์

3.    ข้อเสนอแนะ& แนวทางการขับเคลื่อนเพื่อนำสู่การแก้ไขปัญหา


บทสรุปท้ายก่อนการปิดเวทีประชุมเชิงปฏิบัติการ โดยคุณบัณฑิต แป้นวิเศษ มูลนิธิเพื่อนหญิง
ต้องขอขอบคุณองค์กร IRC / USAID / MWG   และวิทยากร อาจารย์บัณฑิตย์ ธนชัยเศรษฐวุฒิ นักวิชาการแรงงานมูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงัน  อาจารย์ทรงพันธ์ จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งเวทีนี้จะไม่สูญเปล่าเพราะว่าทางผู้จัดฯจะได้นำข้อมูลในการนำเสนอ และผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่เหมาะสมต่อไป และร่วมให้ความเห็นในงานวิจัยวิชาการของมหาวิทยาเชียงใหม่ด้วย ขอบคุณทุกท่านมากครับ
บันทึกการประชุมเชิงปฏิบัติการฯ โดย : คอดีเยาะห์ มานุแช
ตรวจและเรียบเรียงโดย : บัณฑิต แป้นวิเศษ มูลนิธิเพื่อนหญิง

วิทยากรอภิปราย ชวนแลกเปลี่ยน 
โดย คุณบัณฑิตย์ ธนชัยเศรษฐวุฒิ  จากมูลนิธิอารมณ์พงษ์พงัน
อาจารย์ทรงพันธ์ ต้นตระกูล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่